สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

จุดจบโรคโควิด-19 (COVID-19)

บทความสาระน่ารู้ โดยสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย

จุดจบโรคโควิด-19 (COVID-19) : อยู่ที่ไหน??? โดย ศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ โฆษิตานนท์

ขอให้โควิดหายไปจากโลกนี้ด้วยเทอญ……โอมเพี้ยง ท่านคงเคยได้ยินคนขอพรภาวนาแบบนี้ในช่วงปีใหม่หรือตรุษจีนที่ผ่านมาบ้าง ผู้เขียนได้เขียนบทความนี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์ หากผู้อ่านได้อ่านในเดือนมิถุนายน ข้อมูลบางส่วนอาจจะมีความชัดเจนขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ขอเริ่มด้วยความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในบทความนี้
เชื้อสาเหตุ
สมาชิกไวรัสโคโรนาในวงศ์เดียวกันที่ก่อโรคในคนมีทั้งหมด 7 ชนิด กลุ่มแรกมีไวรัสโคโรนา 4 ชนิด ซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจมีอาการไม่รุนแรง แบบไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ Human coronavirus OC43 (HCoV-OC43), Human coronavirus HKU1 (HCoV-HKU1), Human coronavirus 229E (HCoV-229E) และ Human coronavirus NL63 (HCoV-NL63) สำหรับสมาชิกไวรัสโคโรนาอีก 3 ชนิด ซึ่งก่อโรคมีอาการรุนแรง ได้แก่ ไวรัสโคโรนาชนิดที่ 5 เชื้อ SARS-CoV ก่อโรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome–SARS) ที่เคยระบาดในประเทศจีน ไวรัสโคโรนาชนิดที่ 6 เชื้อ MERS-CoV ก่อโรคกลุ่มอาการในระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome–MERS) ที่ระบาดในประเทศแถบตะวันออกกลาง และไวรัสชนิดที่ 7 เชื้อ SARS-CoV-2 ก่อโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อเกิดความรุนแรงมากกว่าไวรัสโคโรนาชนิดอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 ที่ระบาดในปี 2019 เป็นญาติใกลักับไวรัส SARS-CoV ซึ่งก่อโรคซาร์สที่ระบาดในปี 2002 (พ.ศ. 2545) / 2003 (พ.ศ. 2546)
ประเภทของโรคติดเชื้อจำแนกตามขนาดของการแพร่ระบาดในเชิงภูมิศาสตร์
  1. Endemic (Endemic disease, โรคประจำถิ่น) อ่านว่า หมายถึง โรคติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น และติดต่อกันในกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่จำกัด โดยมีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ ขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้น เป็นกลุ่มประเทศหรือทวีป ได้แก่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย และโรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา
  2. Outbreak (การระบาด) อ่านว่า เอาท‘เบรคฺ คือ เหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นแบบฉับพลันของโรคติดต่อที่ไม่ใช่โรคปกติทั่วไป หริอมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ของโรคประจำถิ่น ในกลุ่มคนจำนวนเล็กๆ ในเมืองใดเมืองหนึ่ง โดยยังไม่ได้แพร่กระจายออกไปส่วนใหญ่ และพอจำกัดวงให้อยู่ในสถานที่หนึ่งได้ หากมีอาการรุนแรงหรือขยายวงกว้าง อาจใช้ Epidemic แทนได้ ได้แก่ การระบาดของไข้เลือดออกใน พ.ศ. 2562 การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น
  3. Epidemic (Epidemic disease, โรคระบาด) คือ โรคที่มีการระบาดแพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกใน พ.ศ. 2557-2559, การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนก่อน แล้วระบาดต่อไปยังประเทศอื่นในทวีปเอเชีย
  4. Pandemic (Pandemic disease, โรคระบาดใหญ่/ทั่วโลก) คือ โรคระบาดที่เกิดการระบาดทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ พ.ศ. 2461 (Spanish flu, ไข้หวัดใหญ่เสปน), การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดการระบาดของโควิด-19 ในอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก
โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 412,351,279 คน และผู้เสียชีวิต 5,821,004 คน ดังนั้นการหาจุดจบเป็นเรื่องยาก แต่การหาจุดยุติการระบาดจากโรคระบาดใหญ่/ทั่วโลกให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าการพยากรณ์หรือทำนายโดยดูจากประวัติศาตร์การระบาดของโรคระบาดในอดีต เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส และโรคโควิด-19 ซึ่งทั้งสามโรคนี้เป็นโรคระบาดทั้งสิ้นและมีเชื้อสาเหตุอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ โคโรนาไวรัส ก็จะเห็นว่าแต่ละโรคมีช่วงระบาดประมาณ 1-3 ปี อย่างไรก็ตามจากประวัติศาตร์การระบาดคงไม่สามารถจะเอามาใช้ทำนายกับโรคโควิด-19 โดยตรงได้ เพราะมีปัจจัยหลายหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการสิ้นสุดของโรค การหายไปได้เองของโรค บางคนคิดว่าโรคนี้มาได้เอง ก็จะหายไปได้เอง แนวคิดนี้ไม่ถูกต้อง โรคติดเชื้อระบาดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่หายไป เช่น โรคหัด ยกเว้นโรคฝีดาษโรคเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถกำจัดให้หมดไปจากโลกนี้ได้          โรคโควิด-19 จะจบการระบาดโดยกลายเป็นโรคประจำถิ่น แนวคิดนี้ถูกต้องมากที่สุด โรคระบาดมักเริ่มจากโรคประจำถิ่นจึงมักจบด้วยกลายโรคประจำถิ่นเสมอ เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัส ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุด ในการดำรงชีวิตต้องอาศัยอยู่ในเซลล์เจ้าบ้านที่มีชีวิตเท่านั้น ดังนั้นถ้าเจ้าบ้านที่มีชีวิตไม่มีเหลืออยู่ ไวรัสก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะ RNA virus (อาร์เอ็นเอ ไวรัส) ในขณะเพิ่มจำนวนจะมีสายพันธุ์กลายพันธุ์เกิดขึ้น อาจมีความรุนแรงหรือไม่รุนแรง สายพันธุ์กลายพันธุ์เหล่านี้จะมีการแข่งขัน สายพันธุ์กลายพันธุ์ใดที่สามารถเด่นหรือชนะตัวอื่น ก็จะคงอยู่ต่อไป ปัจจัยสำคัญที่จะยับยั้งการระบาดโรคโควิด-19หมายถึง การทำให้กราฟของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลงเป็นแนวราบ (รูปที่ 3) ก็จะพบว่าแต่ละประเทศทั่วโลกจะหยุดโรคโควิด-19 ไม่พร้อมกัน (รูปที่ 4)
วิธีการหยุดการระบาดโรคโควิด-19
  1. ไวรัสก่อโรคมีความรุนแรงลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ ที่มีความรุนแรงลดลง เห็นได้จากแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิตมีจำนวนคงที่หรือลดลง
  2. จำนวนประชากรมีภูมิคุ้มกันกลุ่ม (herd immunity) มากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ
  3. การลดการแพร่กระจายของเชื้อให้มีค่า R0 น้อยกว่าหนึ่งในทางระบาดวิทยา ค่า R0 (R nought หรือ R Zero) เป็นค่าที่ใช้ประเมินการแพร่กระจายการระบาดของโรค โดยเป็นค่าแสดงความสามารถการแพร่เชื้อตามธรรมชาติที่บ่งบอกว่า จำนวนที่ผู้ติดเชื้อรายหนึ่งจะทำให้คนปกติติดเชื้อได้กี่คนโดยเฉลี่ย ถ้า R0 น้อยกว่า 1 แสดงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และโรคจะหมดไปในที่สุด แต่ถ้า R0 มากกว่า 1 และเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตาม และจะเกิดการระบาดได้ ค่า R0 ไม่ใช่ค่าคงที่ ในแต่ละประเทศ/ทวีปอาจต่างกัน ขึ้นกับพฤติกรรม ภูมิคุ้มกัน รวมทั้งขนาดและความหนาแน่นของประชากร และลักษณะการติดเชื้อของไวรัสเอง รัฐบาลทั่วโลกจึงต้องการกดให้ตัวเลข R0 ต่ำกว่า 1 จึงหาออกมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการกักตัวเอง เว้นระยะห่างทางสังคม และการล็อกดาวน์ เพื่อตัดการแพร่กระจายของไวรัสถึงแม้ว่าไวรัสลดความรุนแรงแล้ว นับว่าเป็นข่าวดีที่เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีอัตราป่วยตายต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ตามก็ยังมีข่าวไม่ดี คือการแพร่กระจายของไวรัส เ มื่อเปรียบเทียบค่า R0 ของสายพันธุ์โอมิครอน กับไวรัสตั้งต้นจากจีนซึ่งมีค่า R0 อยู่ที่ 2.79 แต่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้ามีค่า R0 อยู่ที่ 5.08 และต่อมากลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอมิครอนมีค่า R0 อยู่ที่ 7 หรือมากกว่านั้น สายพันธุ์โอมิครอนอาจจะยังไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย ซึ่งแปลว่ายังจะไม่ใช่เป็นจุดจบของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากเมืองอู่ฮั่นในจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของไวรัสโควิด-19 เมื่อปี 2019 ได้เตือนโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ NeoCoV พบในค้างคาวแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อ-การเสียชีวิตสูงคล้าย ‘โรคเมอร์ส’ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สายพันธุ์ในคน ก็จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง
  4. ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดี นอกจากนี้ขอให้ยังคงเคร่งครัดมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีความเสี่ยง ส่วนสถานประกอบการต้องเข้มการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting
บทสรุป
จุดจบโรคโควิด-19 : อยู่ที่ไหน คำตอบ คือ ไม่มี จะมีแต่จุดจบของการระบาดโรคโควิด-19 (Pandemic disease, โรคระบาดใหญ่/ทั่วโลก) อยู่ที่ โรคประจำถิ่น และอาจต้องทำใจว่า อาจไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา อาจเป็นโรคหรืออาการอื่น นี่อาจไม่ใช่ END GAME แต่เป็น GAME OVER…Play Againศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ โฆษิตานนท์

อ้างอิง
คลังความรู้

บทความสาระน่ารู้ หมวดอื่นๆ

No products in the cart.

X